7/13/2013

แนวคิดการศึกษาแนวพุทธ โดยท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก

      เมื่อกัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการซึ่งเป็นเหตุภายนอกและภายใน ถึงพร้อมทั้ง ๒ ประการ จึงเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นๆ กำลังดำเนินไปตามครรลองของ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นการศึกษาที่สมบูรณ์ในที่สุด

             
                                    : พุทธพจน์ คัดจาก พุทธธรรม ของ พระธรรมปิฎก ๖ ประยุทธ์ ปยุตโต


    


               ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน คือบอกความจริง แล้วก็สอนข้อเรียกร้องจากความจริงนั้นต่อเราว่า ถ้าเราต้องการดำเนินชีวิตให้ดีเราจะต้องทำอย่างไร ก็เท่านั้นเอง
                       เมื่อเป็นอย่างนี้ ระบบแห่งธรรมของพระพุทธศาสนา เมื่อพูดอย่างเคร่งครัดจึงไม่มีคำสั่งหรือคำห้าม แล้วก็ไม่มีการลงโทษหรือให้รางวัล แต่คนทำอะไร เขาก็ได้รับผลเองตามกฎธรรมดาของธรรมชาติ กฎแห่งกรรมอะไร ๆ ก็เป็นเรื่องของเหตุของผล หมายความว่า ทำเหตุอย่างนี้ ผลจึงเกิดขึ้นอย่างนั้น เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครมาตัดสินลงโทษ
                   สอดคล้องกับหลักการมอนเตสโซรี่ ที่ ไม่มีระบบการลงโทษ หรือ การให้รางวัล
            
                สามแดนของชีวิต ก็เป็นสามด้านของการศึกษา 
   ตามธรรมดาของธรรมชาตินั้น ชีวิตของเรามี 3 ด้าน คือ
1. เรามีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม โดยการรับรู้ ดู ฟัง ฯลฯ ทางอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นทวาร คือประตูฝ่ายเปิดรับ 6 และโดยการแสดงออกสื่อสารสัมพันธ์ทำการต่างๆ ทางกาย วาจา ใจที่เรียกว่ากรรม เป็นทวาร คือประตูฝ่ายเปิดออก 3 หมายความว่า มีความสัมพันธ์กับโลกภายนอกทางการรับรู้ และทางด้านการกระทำนี้คือแดนของศีลทั้งหมด รวมอยู่ในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ถ้ามองอย่างนี้เราจะรู้เลยว่า คำว่า ศีล ไม่ใช่แค่ศีล 5 แต่หมายถึงการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางกายภายและทางสังคมด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วาจา เป็นด้านที่ติดต่อกับข้างนอก

 2. ทีนี้ลึกลงไป พฤติกรรมการสัมพันธ์กับโลกภายนอกของเราจะเป็นอย่างไร ก็เกิดจากเจตจำนง มีความตั้งใจ แล้วเบื้องหลังของเจตจำนงหรือความตั้งใจนั้น ก็มีแรงจูงใจ และคุณสมบัติต่างๆในจิตใจทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้าย เช่น ความรัก ความโกรธ ความเชื่อ ฯลฯ เป็นตัวปรุงแต่งให้แสดงออกมาที่พฤติกรรม ตลอดจนการรับรู้ทางอินทรีย์ต่างๆ ส่วนนี้ก็เป็นแดนของจิตใจ 
3. เหนือจากนั้นอีกแดนหนึ่งก็คือ มนุษย์จะสื่อสารมีพฤติกรรมสัมพันธ์กับโลกภายนอกได้มากน้อย ตื้นเขิน หรือซับซ้อนเท่าไร จะมีจิตใจที่อึดอัดโล่งโปร่งแคบกว้างเพียงใด จะมีความรู้สึกได้แค่ไหน จะมีสภาพจิตใจเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่ความรู้ ถ้าเรารู้ว่าสิ่งนี้เป็นอันตรายต่อเรา จิตใจของเราจะมีปฏิกิริยาอย่างหนึ่ง ถ้าเรารู้ว่าสิ่งนี้เราจะจัดการอย่างไร เราก็จะมีความรู้สึกสบายโปร่งโล่งเป็นอิสระ แต่ถ้าเราไปเจออะไรแล้ว ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ปัญญาไม่มี ความรู้ไม่มี เราจะอึดอัดเป็นทุกข์ทันที ฉะนั้นความรู้จึงเป็นตัวการที่ทำให้สภาพจิตเปลี่ยนแปลงไป และเป็นตัวจำกัดและขยายขอบเขตของพฤติกรรม เราจะทำอะไรต่ออะไรได้แค่ไหน ก็อยู่ที่ความรู้แห่งปัญญา เป็นแดนที่สาม
 สอดคล้องกับหลักการมอนเตสโซรี่ ที่ให้ความสำคัญกับการเตรียมสิ่งแวดล้อม ( prepared environment, Independent Learning & Exploration,  Respect the Child etc. )

         แต่ต้องการความชัดเจน ว่าด้านไหนไปได้แค่ไหน จึงแยกเป็น
1. กายภาวนา การพัฒนาด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นกายภาพ หรือทางวัตถุ
2. ศีลภาวนาการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมด้านเพื่อนมนุษย์รวมทั้งสัตว์ทั้งหลายอื่นด้วย อันนี้แยกได้ชัด กายภาวนาสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น พวกธรรมชาติ พวกวัตถุ พวกสิ่งเสพ บริโภค สิ่งที่ตาดู หูฟัง อะไรต่างๆ ส่วนศีลภาวนา เป็นการสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์คือทางสังคม
3. จิตตภาวนา การพัฒนาด้านจิตใจ ที่อาศัยสมาธิเป็นตัวแกนในการฝึกและมีบทบาทออกมาทางเจตจำนง
4. ปัญญาภาวนา การพัฒนาด้านปัญญา ความรู้ความเข้าใจคิดได้ หยั่งเห็นเรื่องนี้แปลกมากที่เรามาเจอภายหลังว่าของฝรั่งมี physical development, mental development, emotional develop- ment, social development อ้าว ของพระพุทธศาสนาก็มี 4 และว่ามาตั้งสองพันกว่าปีแล้ว พอมาเจอก็ตรงกันเลยแต่ขอบเขตไม่เท่ากัน

            แม้แต่คนที่เจอความทุกข์ พอมีโยนิโสมนสิการ เกิดการคิดในทางปัญญาว่า โอ้ เราเจอความทุกข์แล้ว คนที่เจอความทุกข์นี่
1.   เท่ากับได้บททดสอบตัวเองว่า เราจะเข้มแข็งสามารถผ่านความทุกข์ยากไปได้ไหม
2. คนเราจะเจริญพัฒนาด้วยการเจอความยากและรู้จักทำแบบฝึกหัด คนที่เจอแต่ความสุขสะดวกสบายไม่ได้ ทำแบบฝึกหัดจะพัฒนายาก เราเจอทุกข์นี่ดีแท้ เราจะได้ฝึกตัวเองในการแก้ปัญหา เราจะเข้มแข็งด้วยปัญญา และจะพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาต่อไป ชีวิตจะดีจะพัฒนามาก พอปัญญามา ทุกข์ก็กลายเป็นสุขไป ฉะนั้นคนที่ฉลาดจึงสามารถหาสุขจากทุกข์ได้ อันนี้คือระบบแห่งการพัฒนามนุษย์ที่ไปด้วยกันพร้อมทีเดียวหมด ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา อิงอาศัยเกื้อหนุนกันไป
           
             สังคมไทยมีดีคือวัฒนธรรมแห่งเมตตา
      แต่ตัวต้องก้าวไปในวัฒนธรรมแสวงปัญญา

           
ข้อที่อยากจะย้ำอย่างหนึ่งก็คือ สังคมไทยเรานี้ สำหรับอาตมภาพมองว่า เรารับพระพุทธศาสนาเข้ามา แต่เรานั้น นี่ว่าโดยรวมนะ คือถ้าว่าโดยบุคคลอาจจะมีบางท่านที่เข้าถึงบ้างในบางช่วงบางเวลาแต่เมื่อว่าโดยสังคมส่วนรวม เราพยายามก้าวเข้าไปในพระพุทธศาสนาและเราก็ก้าวไปได้ระดับหนึ่ง
           ด้านหนึ่งที่เราก้าวไปได้ดีพอสมควร ก็คือด้านจิตใจ โดยเฉพาะด้านเมตตากรุณา เราก้าวไปได้ดี จนกระทั่งเป็นสังคมที่มีน้ำใจเป็นสังคมที่เด่นในเรื่องของการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ขอใช้คำว่ามีวัฒนธรรมแห่งเมตตาสูง
           แต่อีกด้านหนึ่งที่พระพุทธศาสนาเน้นมากและเป็นตัวจริงของพระพุทธศาสนาซึ่ง เลยขั้นจิตใจและเป็นองค์ประกอบที่จะมาทำให้จิตใจพัฒนาอีกขั้นหนึ่ง ไปจนถึงอิสรภาพ ก็คือด้านปัญญา ในด้านนี้สังคมไทยยังก้าวไม่ค่อยถึง
            หมายความว่า เมื่อพูดโดยรวม สังคมไทยรับพระพุทธศาสนาเข้ามา แล้วเราก็พยายามนำสังคมไปในวิถีแห่งพระพุทธศาสนา แต่เรามาได้แค่ระดับจิตใจ ได้วัฒนธรรมแห่งเมตตา ซึ่งเราก็ควรจะภูมิใจแต่ในด้านวัฒนธรรมทางปัญญา แม้แต่ความใฝ่รู้ใฝ่แสวงปัญญานั้นเราอ่อนเหลือเกินทำไมนะ ทั้งๆ ที่พระพุทธศาสนาเน้นเรื่องปัญญา แต่ทำไมสังคมไทยจึงอ่อนนักในเรื่องการแสวงปัญญา ต้องถามตัวเองแล้ว
          วัฒนธรรมนั้นเหมือนกับเป็นทุนเดิมที่สังคมได้สะสมมาจนอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเป็นฐานให้บุคคลทั้งหลายในสังคมอาศัยเป็นเครื่องเอื้อโอกาสให้สามารถก้าวไปสู่จุดหมายที่สูงขึ้นไป และเมื่อบุคคลก้าวหน้าไป ก็เท่ากับเพิ่มทุนให้แก่สังคม พาสังคมให้เขยิบฐานสูงขึ้นไปด้วยฉะนั้น เราจะต้องเดินหน้าต่อไป ถ้าจะใช้การศึกษาแนวพุทธก็ต้องก้าวไปสู่วัฒนธรรมระดับปัญญาให้ได้แต่ก็อย่าทิ้งวัฒนธรรมแห่งเมตตา เวลานี้เรากำลังจะสูญเสียอันเก่าที่ได้แล้ว และอันที่ยังไม่ได้ทำก็ไม่เดินหน้าด้วย
   
  1. รักษาวัฒนธรรมแห่งเมตตาไว้ให้ดี
 
2. ก้าวไปในวัฒนธรรมแห่งปัญญาที่ยังไปไม่ถึงให้ได้
            ขอพูดในแง่ส่วนตัว สำหรับอาตมามั่นใจว่า ถ้าเราพัฒนาให้ดีด้านปัญญานี้เราจะไปได้ดีกว่าฝรั่ง เรื่องนี้มั่นใจมาก คือในวัฒนธรรมฝรั่งนั้นด้านวัฒนธรรมแห่งปัญญาเขาเน้นมาก แต่วัฒนธรรมแห่งเมตตานี่เขาไม่ค่อยได้ วัฒนธรรมแห่งปัญญาที่ว่านั้น คือ วัฒนธรรมแสวงปัญญาเขาไปได้เก่งแต่การแสวงปัญญาของฝรั่งมาจากเหตุบีบคั้นในภูมิหลัง เป็นเรื่องของภูมิหลังทางสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติ ซึ่งบีบคั้นเขามาก ทำให้เขาต้องคิดหาทางแก้ปัญหา แล้วก็ทำให้เขาเกิดความใฝ่รู้แล้วพัฒนาระบบแห่งการแสวงปัญญาขึ้นมา
           อย่างไรก็ตาม ฝรั่งนั้นมุ่งโด่งไปพัฒนาวัฒนธรรมแสวงปัญญาทางวัตถุ ก็เจริญทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการพัฒนาปัญญาที่ไม่เป็นองค์รวม ปัญญาของเขา เป็นปัญญาแยกเป็นเสี่ยงๆ เป็นปัญญาแยกส่วนไม่ใช่ปัญญาองค์รวม แต่ถ้าเราเข้าตามแนวไตรสิกขานี้ ก็จะเป็นปัญญาในระบบองค์รวม คนไทยจะต้องรักษาสิ่งดีที่ตัวมีไว้ให้ได้ พร้อมทั้งก้าวไปเอาสิ่งดีที่ยังไม่มีให้สำเร็จด้วย

          เป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า ในพระพุทธศาสนานี้ ตัวตัดสินอยู่ที่ปัญญา ถ้าไม่พัฒนาปัญญาโพธิก็ไม่เกิด การตรัสรู้ก็ไม่มา พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยปัญญา ไม่ใช่ตรัสรู้ด้วยเมตตา ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีปัญญาถึงที่สุดแล้วจะกลับมาทำให้เป็นเมตตากรุณาที่แท้ ถ้าเราไม่มีปัญญาเต็มที่ยังไม่เข้าถึงสัจธรรม เมตตากรุณาของเราก็จะเป็นเพียงการสร้างสภาพจิตด้วยความเคยชิน และเป็นความโน้มเอียงเท่านั้น แต่ยังไม่เป็นเมตตากรุณาที่แท้ ฉะนั้นจึงต้องทำจิตให้มีคุณสมบัติสมบูรณ์และเข้าถึงอิสรภาพด้วยปัญญา คนไทยจะต้องก้าวต่อไปให้ถึงขั้นนี้ให้ได้
             เวลานี้เราเน้นกันแต่ในแง่การศึกษาเพื่อสนองความต้องการของสังคมซึ่งเป็นการศึกษาแบบตามสังคม ถ้าอย่างนี้การศึกษาก็ช่วยสังคมไม่ได้มาก สังคมมีความต้องการแรงงานด้านนี้เท่านี้ ต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เท่านี้ สถาบันการศึกษาก็ไปจัดการศึกษาพัฒนาคนให้มีความรู้เชี่ยวชาญด้านนั้นขึ้นมา ถ้าสังคมเดินทางผิด การศึกษาก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย เพราะเป็นการศึกษาแบบตามสังคม ได้แต่สนองเขาเท่านั้น และก็อาจจะซ้ำเติมสังคมด้วย การศึกษาที่ดีจะต้องนำสังคม เป็นตัวปรับตัวแก้ ตรวจสอบและให้สติว่าสังคมอย่างนี้ใช้ไม่ได้นะ เดินทางผิดแล้ว การศึกษาต้องนำสังคม
              เพราะฉะนั้น การศึกษาจะต้องทำสองอย่างนี้ไปด้วยกันควบคู่กัน การศึกษาที่นำสังคมจะต้องเป็นตัวยืน ส่วนการศึกษาที่ตามสนองความต้องการของสังคม ก็เป็นเรื่องเฉพาะกิจเฉพาะหน้าคือตอนนี้เราพูดถึงหลักการใหญ่ของการศึกษาในแง่ที่จะนำสังคม แล้วก็มาพูดถึงบทบาทเฉพาะกาลเทศะเพื่อสนองความต้องการเฉพาะหน้าว่าเวลานี้เราอยู่ท่ามกลางโลกที่เป็นอย่างนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไปอย่างนี้กระแสของโลกเป็นอย่างนี้ ประเทศของเรามีความขาดแคลนด้านนี้บกพร่องด้านนี้ จะต้องเน้นจุดหมายในช่วงเวลาเท่านั้นๆ อย่างนี้ๆ
                            ส่วนที่บางท่านยังอาจจะมีข้อวิตกว่า การศึกษาที่เตรียมจะทำอย่างนี้ มีความเป็นไปได้หรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่น่ากลัวเลย เพราะมันสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ชีวิตต้องเป็นอย่างนี้ นี่คือการศึกษาที่อยู่กับชีวิตความเป็นจริง เพราะการกินอยู่ดูฟัง การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมต่างๆ การมีเจตจำนง มีความรู้สึก มีความดีความชั่วในจิตใจ มีสุขมีทุกข์ มีปัญญาความรู้เข้าใจ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน ทุกขณะ เป็นแต่เพียงว่า เราปฏิบัติต่อมันถูกต้องหรือไม่ เอามันมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้แค่ไหน

                ขอพูดต่อไปถึงความคิดอย่างหนึ่งว่า เพราะเหตุที่การศึกษาเป็นเรื่องของชีวิตที่มีความเป็นจริงอย่างนี้ มันก็เริ่มตั้งแต่เด็กเกิด ดังนั้น บุคคลผู้ให้การศึกษาที่สำคัญ ก็อย่างที่พระพุทธศาสนาบอกแล้วว่าพ่อแม่เป็นบูรพาจารย์ คือเป็นครูต้น ฉะนั้นการศึกษาจึงต้องเริ่มต้นที่บ้าน
           ทีนี้ก็มานึกว่าในแง่นี้ ทำอย่างไรจะให้โรงเรียนช่วยโยงการศึกษาไปถึงบ้าน โดยเป็นตัวกลางที่กระตุ้นให้บ้านทำหน้าที่ทางการศึกษาอันนี้ ถ้าทำอันนี้ได้ คิดว่าสังคมไทยจะประสบความสำเร็จมาก คือโรงเรียนจะต้องไม่จำกัดบทบาทอยู่เฉพาะที่โรงเรียน
                    โรงเรียนจะต้องทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้น หรือจะเรียกว่านำหรืออะไรก็แล้วแต่ ให้การศึกษาที่บ้านดำเนินไปด้วย และช่วยเป็นพี่เลี้ยงของพ่อแม่ด้วย ในเรื่องการจัดการศึกษาให้แก่ลูกเมื่อใครมีลูกก็ให้ตระหนักในบทบาทของพ่อแม่ ในฐานะเป็นครูต้นที่พระเรียกว่าเป็นบูรพาจารย์คือเป็นอาจารย์คนแรก แล้วก็ช่วยเด็กให้พัฒนาชีวิตไปอย่างมีการศึกษา เช่น กินอยู่เป็น ดูเป็น ฟังเป็น ฯลฯอย่างที่พูดมาแล้ว
              ถ้าโรงเรียนทำหน้าที่นี้ได้ ไปประสานกับบ้าน จะเป็นก้าวใหญ่ก้าวหนึ่งของการศึกษา ซึ่งเป็นก้าวที่น่าจะเป็นเนื้อแท้ด้วย คิดว่าอย่างนั้น

 


            


No comments: